
ที่มา มติชนออนไลน์
หมายเหตุไทยอีนิวส์:มติ ชนสุดสัปดาห์ได้พาดหัวบนปกเรื่อง"เปิดข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต" ซึ่งมีความละเอียดในตอนท้ายๆบทความนี้ ซึ่งแน่นอนว่าอาจทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และประชาชนเกิดข้อคลางแคลงต่อ รัฐบุรุษอาวุโสผู้ล่วงลับ นายปรีดี พนมยงค์ ดังนั้นไทยอีนิวส์ขอแนะนำท่านผู้อ่านได้อ่านข้อมูลเกี่ยวเนื่องในท้ายบทความ นี้ประกอบ เพื่อความงอกงามทางสติปัญญา และพิจารณาโดยแยบคาย
ในประเทศ:เปิด "ข้อมูลใหม่" กรณี "สวรรคต"หนังสือ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ของ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล
โดย ใช้เวลา 2 เดือน ในการค้นคว้าและอ่านเอกสารทุกวันเว้นวันอาทิตย์ ที่ Library of Congress, State Department Library ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. National Archives ที่แมรี่แลนด์ สหรัฐ
และใช้เวลา อีก 2 เดือน ในการค้นข้อมูล และอ่านเอกสาร ที่ The National Archives กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
แหล่งที่ค้นคว้าถือเป็นความร่วมมือพิเศษและมีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะที่ State Department Library ณ กรุงวอชิงตัน
"เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" เป็นหนังสือชุด 3 เล่ม ปกแข็ง
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ บอกในวันเปิดตัวหนังสือ ว่า ในหนังสือมีข้อมูลใหม่ที่ผู้เขียนนำมาตีแผ่ให้ได้รับทราบ
เช่น กรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในบทที่ 22 เล่ม 1 มาจนถึงบทที่ 23 ของเล่ม 2 จำนวน 132หน้า
ผู้เขียนเสนอให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ที่ได้ออกไปสู่สายตานานาชาติ ดัง นั้น จึงทรงมีพระราชดำริให้คณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพ มีการตั้งผู้แทนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมชันสูตรพระบรมศพด้วย และควรใช้เครื่องมืออุปกรณ์ชันสูตรที่ทันสมัย
และเมื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษทั้ง 3 คนมาร่วมชันสูตรพระบรมศพแล้ว ทั้ง 3 คนได้ออกความคิดเห็นของสาเหตุการสวรรคต
ซึ่งความเห็นของทั้ง 3 คนนี้ ไม่เป็นที่เห็นชอบของรัฐบาลไทย
วิมล พรรณ ปิตธวัชชัย ได้ค้นข้อมูลจากลอนดอน ได้ข้อสรุปว่า ได้มีการโทรเลขจากสถานทูตอังกฤษในไทยไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรื่องการเจรจาขอให้แพทย์อังกฤษงดออกความเห็นการชันสูตรพระบรมศพ
ตรงนี้คือหลักฐานใหม่ที่คนไทยจะได้รู้
ในหน้า 34 บทที่ 23 หัวข้อ "ข้อเท็จจริงในการสวรรคต" ของหนังสือ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ระบุถึงข้อมูลหนึ่ง ว่า
...คณะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์ การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2489 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่พระราชหฤทัยในการชันสูตรพระบรมศพอยู่มาก จึงแจ้งพระราชประสงค์ไปยังคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์ ว่า เมื่อจำเป็นจะต้องมีการชันสูตรพระบรมศพเช่นนี้แล้ว ก็ให้ทำเสียให้เสร็จสมบูรณ์ในครั้งเดียว
และเพื่อให้ปราศจากข้อขัดข้องใดๆ ควรจะมีเครื่องเอ็กซเรย์หลายๆ เครื่อง เพื่อป้องกันการติดขัด
และ มีพระราชประสงค์ให้เชิญพันเอก เจ ไดรเบิร์ก แพทย์ใหญ่ทหารอังกฤษในประเทศไทยเข้าร่วม และควรจะมีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งในทางอาวุธปืนเข้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของไทย ด้วย
ทั้งนี้ มิใช่จะไม่ไว้ใจแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไทย แต่เรื่องการสวรรคตนี้ระบือไปทั่วโลก การชันสูตรจึงควรกระทำให้สมบูรณ์ครบถ้วนในทุกๆ ทาง ย่อมเป็นหลักฐานดียิ่งขึ้น
คณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์ฯ ได้สนองพระราชประสงค์โดยครบถ้วน ได้เชิญ
พันเอก เจ ไดรเบิร์ก
พันโท เอส รีส
และ ร้อยเอก ดี.ซี. คุปตา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เอ็กซเรย์ของกองทหารอังกฤษในประเทศไทย ร่วมด้วย
ส่วนผู้เชี่ยวชาญทางอาวุธปืนนั้น พันเอก เจ ไดรเบิร์ก ได้เอื้อเฟื้อจัดหามาให้
นอกจากนี้ นายแพทย์อี ซี คอร์ต นายแพทย์อเมริกันก็ยังได้เข้าร่วม พร้อมทั้งผู้แทนตำรวจไทย 1 นาย
คือ พันตำรวจโท เอ็จ ณ ป้อมเพชร ผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์หลักฐาน
คณะกรรมการแพทย์ได้เลือกตั้ง พระยาดำรงแพทยาคุณ เป็นประธาน
พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ประธานกรรมการสอบสวนพฤติการณ์การสวรรคต จึงได้มีหนังสือเชิญไปยัง พันเอก เจ ไดรเบิร์ก ตามพระราชประสงค์นี้
ในหน้า 40 เล่มที่ 2 ของบทเดียวกัน ระบุอีกว่า
...หลัง การชันสูตรพระบรมศพแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุใดมีน้ำหนักว่าเป็นไปได้มากที่สุด ปรากฏว่า ประเด็นถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด คือ
ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด 16 เสียง
ปลงพระชนม์เองมีน้ำหนักมากที่สุด 4 เสียง
อุปัทวเหตุมีน้ำหนักมากที่สุด 2 เสียง
ความ เห็นของคณะแพทย์และข้อเท็จจริงบางประการในการทดลองในการยิงศพล่วงรู้ไปถึง หนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์เสรี ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2489 ลงตีพิมพ์พาดหัวว่า หมอลงความเห็นว่าถูกลอบยิง ไม่ใช่อุบัติเหตุแน่นอน...
ค่ำวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2489 นายแพทย์หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ ถูก นายปรีดี พนมยงค์ เรียกไปต่อว่าสองเรื่อง คือ เรื่องที่นายแพทย์หลวงนิตย์ฯ แจ้งให้ที่ประชุมแพทย์ทราบว่า นายปรีดีเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษาในการออกแถลงการณ์ฉบับแรกของสำนัก พระราชวัง ว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จสวรรคตโดยอุปัทวเหตุ
และ เรื่องแพทย์ลงความเห็นถึงสาเหตุแห่งการสวรรคต นายปรีดีมีความเห็นว่าแพทย์ควรรายงานเพียงว่า ถูกอาวุธเข้าข้างไหน ออกทางไหน ถูกส่วนใด และเป็นเหตุให้ตายหรือไม่เท่านั้น ซึ่งนายแพทย์หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ก็เห็นพ้องด้วย
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เรียก นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลวงอดุลย์เดชจรัส และ นายดอล ที่ปรึกษาการคลังไปพบ
นายปรีดีบอกนายดิเรก ว่า ได้ทราบว่ามีการยุยงแพทย์ฝรั่งให้เล่นการเมืองนอกเหนือหน้าที่แพทย์ ทั้ง 4 คน คือ นายปรีดี นายดิเรก หลวงอดุลย์เดชจรัส และนายดอล เห็นพ้องต้องกันว่า แพทย์ควรทำหน้าที่ชันสูตรพระบรมศพอย่างเดียว ไม่ควรออกความเห็นเรื่องสาเหตุ นายปรีดีได้ใช้ให้นายดิเรกและนายดอล ไปแจ้งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยทราบ ในที่สุดแพทย์กองทัพอังกฤษจึงได้ขอถอนความเห็น โดยนายแพทย์ไดรเบิร์ก (ซึ่งได้รับเชิญร่วมชันสูตรพระบรมศพ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) แจ้งแก่พระยาดำรงแพทยาคุณ ว่า จำต้องถอนความเห็นเพราะเป็นทหารต้องปฏิบัติตามวินัย
ดังรายงานของ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2489 เรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไปเจรจาขอให้ทูตอังกฤษประจำประเทศไทยห้ามแพทย์ชาวอังกฤษที่ไปร่วมเป็น กรรมการชันสูตรพระบรมศพ ออกความเห็นสาเหตุแห่งการสวรรคต ดังนี้
โทรเลขฉบับนี้เป็นความลับอย่างที่สุดและควรเก็บไว้โดยผู้รับที่มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น ไม่ให้ส่งต่อ
แจกในคณะรัฐมนตรี
F.9488 จากกรุงเทพฯ ถึงกระทรวงการต่างประเทศ
Mr.Thompson วันที่ 26 มิถุนายน 2489
No.851
ด่วน
โทรเลขของผมเลขที่ 834
"......... มีการเชื่อกันอย่างกว้างขวาง (ซึ่งก็มีเหตุผล) ว่าคณะกรรมการแพทย์ที่สอบสวนกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน กำลังจะรายงานโดยเสียงข้างมากเป็นการถูกปลงพระชนม์ จริงๆ แล้วในการลงคะแนนเสียงวันนี้ เมื่อคณะกรรมการยอมรับถ้อยคำต่างๆ ในรายงานแล้ว 16 เสียงเห็นว่าเป็นการถูกปลงพระชนม์ 4 เสียงเป็นอัตวินิบาตกรรม และ 2 เสียงเป็นอุบัติเหตุ ตัวเลขเหล่านี้ไม่รวมนายทหารอังกฤษ 4 คนผู้ปฏิเสธที่จะออกความเห็นใดๆ
2. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้เพื่อลงลายมือชื่อในรายงาน สมมติว่าระหว่างขณะนี้กับพรุ่งนี้กรรมการจะไม่เปลี่ยนใจ (ตกเป็นเหยื่อของความรวนเร) การเผยแพร่รายงานฉบับนี้จะต้องก่อให้เกิดความตื่นเต้นในระดับสูงสุดทีเดียว ผลจะเป็นอย่างไรนั้น ยากที่จะคาดได้ ผมทราบว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศนั้นกังวลใจมาก เพราะรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศมาพบผม โดยไม่ได้บอกล่างหน้าเมื่อคืนนี้ ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ผมช่วยพูดกับชาวอังกฤษสามคนในคณะกรรมการชุดนี้ ผมบอกท่านว่า ผมไม่ (ย้ำ ไม่) สามารถชักจูง Colonel Driberg หรือเพื่อนร่วมงานสองคนของเขาได้ แต่ผมจะแนะนำให้เขาอยู่ภายในกรอบของเงื่อนไขตั้งแต่ต้นที่เชิญให้เป็น กรรมการ อันที่จริงนี่คือสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติมา
ในเรื่องนี้ผมขอยกข้อความที่ Colonel Driberg ยืนยันว่าจะใส่ไว้ในรายงานของคณะกรรมการ (เริ่มต้น)
Colonel Driberg, Lieutenant - Colonel Rees และ Captain Gupta ไม่ออกความเห็นว่า การสวรรคตสืบเนื่องมาจากการปลงพระชนม์ อัตวินิบาตกรรมหรืออุบัติเหตุ วิธีดำเนินการนี้ เป็นไปตามข้อตกลงในหนังสือเชิญ (ได้แนบสำเนาฉบับแปลมาด้วย) ว่าขอให้มาเป็นกรรมการเพื่อช่วยในการชันสูตรพระบรมศพเท่านั้น
พวกเขา รู้สึกว่าสามารถให้ความเห็นด้านการแพทย์จากข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ได้มา จากการชันสูตร แต่รู้สึกว่าจะเป็นการไม่เหมาะสมและนอกเหนืออำนาจที่จะให้พวกเขาออกความเห็น มากไปกว่านั้น (จบ)...."
นอกจากนี้ ในหน้า 128 เล่มที่ 2 วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ระบุว่า
มี รายงานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยรายงานไปยัง กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2489
ความว่า
ลับเฉพาะ
F 1812/327/40 กรุงเทพฯ
No.305 วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2489
From Mr.Thompson
To Mr.Bevin
12 th December 1946
ผม คิดอยู่บ่อยครั้งถึงถ้อยคำของรัฐบุรุษอาวุโสที่ไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะ กล่าวออกมา ซึ่งนายดอลที่ปรึกษาทางด้านการคลัง ได้ยินคำพูดนี้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ว่า กษัตริย์ไม่ควรเข้ามายุ่งกับการเมือง สองวันต่อมาพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ก็สวรรคตอย่างโหดร้าย และมีการกระซิบกระซาบในประเทศ ว่าเป็นการซ้ำรอยเหตุการณ์ร้าย ณ ขั้นบันไดทางขึ้นโบสถ์แคนเทอร์เบอรีที่ ทอมัส อะ เบ็กเก็ต ถูกสังหาร
ผมจะส่งสำเนารายงานนี้ไปยังกรุงเบิร์น และสิงคโปร์
G.H. Thompson
ข้อมูล ที่ปรากฏใน "เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ" ของ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ข้างต้น ต้องถือว่าเป็น "ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง"
แน่นอน ฝ่ายที่รู้ข้อมูลในด้านของ นายปรีดี พนมยงค์ อาจมองต่างมุมและอาจมีข้อมูล "อีกด้านหนึ่ง"ต้องติดตามต่อไป ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อหนังสือและข้อมูลนี้อย่างไร*********
บทความเกี่ยวเนื่อง:-เปิดบันทึกหลักฐานว่าเจ้านายชั้นสูงเห็นด้วยกับการออกประกาศว่ากรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุเพื่อรักษาพระเกียรติ ร.8 -วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย:ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 1 : ฉาก -วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย:ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2 : ในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เอง หรือ ถูกผู้อื่นยิง -วิกฤตในบั้นปลายรัชกาลของราชอาณาจักรไทย:ไขปมปริศนากรณีสวรรคต -เปิดบันทึกช่วยจำของเคนเน็ต แลนดอน เกี่ยวกับ กรณีสวรรคต และข่าวลือเรื่องแผนการใหญ่ของ ควง และ "พี่น้องปราโมช"